ทำไมคนเราต้องกินยาเคลือบกระเพาะอาหารกันด้วยนะ ?

ทำไมคนเราต้องกินยาเคลือบกระเพาะอาหารกันด้วยนะ ?

คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมคนเราต้องมองหายาเคลือบกระเพาะมากินด้วย ? ซึ่งเจ้ายาเคลือบกระเพาะนี้มีหน้าที่อะไร แล้วมันแตกต่างจากยาลดกรดยังไง ? แล้วมันกินยัง ? เรียกได้ว่าคำถามต่างๆ เต็มหัวไปหมดและวันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยให้คุณได้หายคาใจกัน! รับรองเลยว่าคำตอบที่เราหามาให้คุณนั้น จะทำให้คุณเข้าใจและรู้จักกับยาเคลือบกระเพาะมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน!

ใครกันที่ต้องพึ่งยาเคลือบกระเพาะ ?

คำถามสุดฮอตที่หลายๆ คนสงสัยว่าใครกันนะ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยตัวยาเคลือบกระเพาะ ซึ่งคำตอบก็จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลยนอกจาก ‘ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ’ เพราะตัวยาเคลือบกระเพาะนี้จะช่วยเข้าไปเคลือบเยื่อบุและแผลที่เกิดภายในกระเพาะอาหารจากกรด ทำให้อาการปวดท้องของผู้ป่วยนั้น ทุเลาเบาบางลง โดยในบางตัวยา อาจจะมีส่วนผสมที่ช่วยสมานแผลในกระเพาะให้หายดีได้อีกด้วย

3 กลุ่มหลักของยาเคลือบกระเพาะ

ยาเคลือบกระเพาะ สามารถแบ่งเป็นกลุ่มหลักได้ 3 กลุ่มดังนี้

1.ยาลดกรด (Antacids) ยารักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบกลุ่มนี้มีฤทธิ์เป็นด่าง ใช้หลักการของการนำด่างมาปรับให้ความเป็นกรดในกระเพาะอาหารลดลง

2.ยาเพิ่มความต้านทานของเยื่อบุกระเพาะอาหาร ยารักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบกลุ่มนี้ได้แก่ ซูคราลเฟท (Sucralfate)  และ บิสมัธซับซาลิไซเลท (Bismuth Subsalicylate)

3.ยายับยั้งการหลั่งกรด (Antisecretory Drugs) ยารักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบกลุ่มนี้แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ตามกลไกการออกฤทธิ์ ดังนี้

3.1ยากลุ่มยับยั้งตัวรับฮิสทามีนชนิดที่ 2 (H2-receptor antagonist) ยาจะออกฤทธิ์โดยจับกับตัวรับ (H2 receptor) ของเซลล์บริเวณกระเพาะอาหาร ส่งผลให้มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารน้อยลง

3.2ยากลุ่มยับยั้งโปรตอนปัมพ์ (Proton pump inhibitors) เป็นกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ Proton pump หรือ เอนไซม์ Hydrogen/Potassium Adenosine Triphosphatase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในขั้นตอนการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้การผลิตกรดดำเนินต่อไปไม่ได้

โดยตัวยาเคลือบกระเพาะทั้ง 3 กลุ่มนั้น จะถูกพิจารณาการใช้งานโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น! ซึ่งคุณห้ามไปซื้อมารับประทานเองโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้การรักษาในอนาคตเกิดความยุ่งยากเพิ่มมากขึ้น หากตัวยาที่คุณซื้อไปรับประทานเอง มันส่งผลด้านลบต่อแผลภายในกระเพาะ

ถ้าไม่อยากกินยาเคลือบกระเพาะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร?

ขึ้นชื่อว่าโรคกระเพาะแล้วคงไม่มีใครอยากจะเป็น และก็คงไม่มีใครอยากจะรับประทานยาเคลือบกระเพาะโดยใช่เหตุอีกด้วย ซึ่งหลักการปฏิบัติตัวง่ายๆ ให้ห่างไกลจากโรคกระเพาะมีดังนี้

1.รับประทานอาหารให้ตรงเวลา

ข้อนี้เรียกได้ว่าเป็นข้อที่สำคัญแบบสุดๆ เพราะหากคุณปล่อยให้ท้องของคุณหิวโซ ร่างกายจะปล่อยกรดออกมาในกระเพาะอาหาร และนั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้กระเพาะของคุณกลายเป็นแผล และเป็นโรคกระเพาะในที่สุด

2.ไม่รับประทานอาหารที่มีรสชาติจัดจนเกินไป

รสจัดในที่นี้ คือรสเผ็ด! รสเปรี้ยว! รสเค็ม! ซึ่งแต่ละรสนั้นล้วนมีฤทธิ์ที่จะทำลายระบบภายในร่างกายของคุณแบบสุดๆ ซึ่งการปรุงอาหารให้มีรสชาติกลางๆ คงจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด หากคุณไม่อยากจะต้องมาหายาเคลือบกระเพาะทานในภายหลัง

3.เลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย

ใครที่เป็นสายเนื้อ คงต้องเริ่มลด ละ เลิกซะแล้ว ไม่เช่นนั้นในอนาคตกระเพาะของคุณต้องมีปัญหาตามมาแน่ๆ เพราะด้วยความที่เนื้อนั้นย่อยยาก จึงส่งผลให้กระเพาะต้องทำงานอย่างหนัก จนอาจจะเกิดแผลได้ในที่สุด ดังนั้นคุณอาจจะมองหาผักหรือเนื้อปลาที่ย่อยง่ายมารับประทาน เพื่อให้กระเพาะของคุณได้หยุดพักผ่อนบ้างยังไงล่ะ!

4.อย่าไปเครียดกับชีวิตให้มากมาย

คุณเคยได้ยินคำว่าเครียดลงกระเพาะหรือเปล่า ? ถ้าเคยได้ยินก็คงจะเข้าใจตรงกันว่าความเครียดมีผลร้ายต่อกระเพาะของคุณแบบสุดๆ เพราะเมื่อไหร่ที่คุณเครียด ร่างกายจะปล่อยกรดจำนวนมากออกมาในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้เยื่อยุและผนังภายในกระเพาะเป็นแผล จนต้องหายาเคลือบกระเพาะมากินบรรเทาอาการปวดนั่นเอง

เพียงแค่ 4 ข้อหลักๆ แค่นี้ก็จะช่วยให้คุณนั้นห่างไกลจากโรคกระเพาะตัวร้ายได้แล้ว!

สรุปแล้วยาลดกรดกับยาเคลือบกระเพาะแตกต่างกันไหมนะ?

คำตอบในข้อนี้ตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ‘แตกต่าง’ เพราะตัวยาลดกรดจะช่วยเข้าไปปรับสมดุลความเป็นกรด-ด่างภายในกระเพาะอาหาร แต่! ยาเคลือบกระเพาะ (คุณสมบัติตรงตามชื่อ) จะเข้าไปเคลือบเยื่อบุและแผลภายในกระเพาะ ไม่ให้โดนกรดหรือโดยเชื้อโรคอื่นๆ ที่สาเหตุให้แผลนั้นไม่หายสักที อธิบายง่ายๆ แบบนี้ คุณคงพอจะเห็นภาพที่ชัดเจนของยาสองตัวนี้ได้มากขึ้นกว่าเดิม!

เป็นอย่างไรกันบ้าง ? กับข้อมูลต่างๆ ที่เรานำมาฝากเมื่อข้างต้น คงจะพอทำให้คุณได้หายสงสัยเกี่ยวกับยาเคลือบกระเพาะได้มากขึ้นแล้วใช่ไหมล่ะ แต่! ไม่ว่าคุณจะรู้จักเจ้ายาตัวนี้ดีสักแค่ไหน การรับประทานยาคงต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์และเภสัชกรอยู่เสมอ อย่าริไปซื้อยาเคลือบกระเพาะมาทานเองเป็นอันขาด! เพราะนอกจากคุณจะไม่รู้ปริมาณในการรับประทานยาแล้ว อาจจะทำให้อาการที่เป็นอยู่นั้นไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นหรืออาจจะทำให้แย่ลงกว่าเดิม ดังนั้นการไปพบแพทย์จึงเป็นทางเลือกที่ดีสุด ที่คุณควรจะทำ!