วิถีโรคกระเพาะอาหาร
NO PAIN – NO GAIN คือ สำนวนที่เราเคยได้ยินว่า “ไม่เจ็บปวด – ไม่ได้กำไร” แต่ในที่นี้ เราไม่ได้หมายถึงกำไรที่มีลักษณะในรูปที่เป็นตัวเงิน หากแต่กำลังหมายถึงกำไรที่มีลักษณะมาจากการที่ไม่เป็นโรคร้ายต่างหาก และนั่นน่าจะถือได้ว่าเป็นกำไรที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตของคนเราก็ว่าได้ เพราะ “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” นั้น ยังคงถือได้ว่าเป็นสิ่งที่อมตะตลอดกาล ซึ่งคงไม่มีใครอยากที่จะเป็นคนที่ “มีเงินล้นฟ้า แต่โรคาล้นตัว” ทุกคนล้วนอยากมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง และไม่มีโรคภัยไข้เจ็บกันทั้งนั้น หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถจะเลือกได้ว่า เราจะไม่เป็นโรคอะไรได้ นอกเสียจากว่าเราจะต้องมีวินัย ดูแลใส่ใจสุขภาพของเราอย่างดีเยี่ยมและสม่ำเสมอมากๆ เราจึงอาจจะรอดพ้น หรือลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคร้ายต่างๆ ได้ และเมื่อพูดถึงโรคต่างๆ นั้น โรคที่กำลังเป็นที่นิยมและได้รับการตอบรับจากคนไข้มากที่สุดโรคหนึ่งก็คือ “โรคกระเพาะอาหาร” ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคนที่เป็นโรคนี้นั้น เขาอยากที่จะเป็น แต่เป็นเพราะเขาไม่ได้ดูแลตัวเองให้ดีพอต่างหาก หรือมีวิถีในการดำเนินชีวิตที่มีความเสี่ยงและนำพาไปสู่การเป็นโรคนี้ วิถีที่ว่านี้ก็คือ “วิถีของโรคกระเพาะอาหาร”
วิถีที่ 1 : แบบไม่มีแผลในกระเพาะอาหาร
วิถีนี้คือ การปวดท้องจากการที่กระเพาะอาหารไม่มีแผล แต่เกิดจากความเครียด ดังที่เราเคยได้ยินกันว่า “เครียดลงกระเพาะ” นั่นเอง เมื่อร่างกายเราเกิดภาวะเครียดขึ้นมา สารสื่อประสาทในสมองจะหลั่งออกมามากผิดปกติ ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้กรดในกระเพาะหลั่งมากขึ้น หรือการทำงานการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารผิดไปจากเดิม จึงทำให้มีอาการของโรคนี้ขึ้นได้ ซึ่งอาการที่ว่าก็คือ การที่มีกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น จะทำให้เรารู้สึกปวดแสบ หรือจุกเสียดที่กระเพาะอาหารมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การรับประทานอาหารที่มีรสจัดมากจนเกินไป อาหารมันๆ การสูบบุหรี่และการดื่มสุรา ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดท้องหรือท้องอืดในกระเพาะอาหารได้เช่นกัน เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เรายังคงที่จะดำเนินชีวิตของเราแบบเดิมๆ อีกหรือไม่ หรือเราเลือกที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราโดยการหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาเพื่อลดภาวะความเสี่ยงในการเป็นโรควิถีที่ 1 นี้
วิถีที่ 2 : แบบมีแผลในกระเพาะอาหาร
วิถีนี้คือ การปวดท้องจากการที่มีแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือการรับประทานยาประเภทยาแก้ปวดบางประเภทมากจนเกินไป จนทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ สำหรับในวิถีที่ 2 นี้ มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น จึงจะหายขาดจากอาการนี้ได้
วิถีในการใช้ชีวิตให้ห่างไกลจากการเป็นโรคกระเพาะอาหาร
ข้อพึงปฏิบัติในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดอาการปวดท้องอันมีสาเหตุมาจากการเป็นโรคกระเพาะอาหาร
- มีวินัยในการรับประทานอาหาร ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาในทุกๆ มื้อ โดยเฉพาะอาหารเช้า ไม่ควรรับประทานเกินเวลา00 น.
- ควรรับประทานอาหารในปริมาณที่พอดี ไม่มากจนเกินไป เพราะการรับประทานอาหารที่มีปริมาณมากจนเกินไป จะทำให้ร่างกายต้องหลั่งกรดออกมาในปริมาณมากขึ้น เพื่อที่จะทำการย่อยอาหารนั่นเอง
- ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่กระตุ้นให้เกิดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารให้มีปริมาณที่มากขึ้นอันได้แก่ เนื้อสัตว์แบบสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีโปรตีนสูงๆ อาหารที่มีรสจัดๆ เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด อาหารหมักดองต่างๆ อาหารที่มีลักษณะมันมากๆ เช่น อาหารที่มีไขมันสูง อาหารติดมัน ของทอด อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ
- ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทผักดิบ เพราะผักดิบทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะได้ เช่น กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว บล็อกโคลี่ หน่อไม้ฝรั่ง มันฝรั่ง มันเทศ และหัวหอม
- ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากถั่ว เช่น ถั่ว เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เพราะมีแก๊สสูง
- ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ ค็อกเทลชนิดต่างๆ เพราะมีฤทธิ์ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร
- ควรหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ ช็อคโกแลตร้อน หรืออาหารที่ทำมาจากช็อคโกแลต เครื่องดื่มชูกำลัง เพราะมีสารคาเฟอีนสูง น้ำอัดลม เพราะมีแก๊สสูง น้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวมากๆ เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว เพราะมีความเป็นกรดสูง
- ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารสูง ซึ่งได้มาจากผัก ผลไม้ และธัญพืชต่างๆ เช่น กระเจี๊ยบเขียว กล้วยน้ำหว้า ฝรั่ง แอปเปิ้ล ข้าวโอ๊ด เม็ดแมงลัก โยเกิร์ตรสธรรมชาติสูตรไม่มีน้ำตาล (plain yogurt)
- ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- ดื่มน้ำเปล่าให้มากๆ
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
- ไม่เครียด รู้จักผ่อนคลาย รู้จักวิธีจัดการกับความเครียด
- ไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดประเภทยาแอสไพรินเอง เมื่อต้องการรับประทานยาแก้ปวดชนิดนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
เมื่อเราดำเนินชีวิตในวิถีที่เหมาะสมตามที่ควรจะเป็นแล้ว ก็ถือได้ว่าเป็นการป้องกันการเกิดโรคร้ายให้กับตนเองได้ในระดับหนึ่งแล้วเท่านั้น ส่วนที่เหลืออาจจะเป็นวิถีแห่งสัจธรรมของชีวิตที่ว่า “ไม่มีใคร ที่ไม่มีความเจ็บปวด” NO ONE – NO PAIN