How to กินยาลดกรดยังไง ให้ได้ผลมากที่สุด!

How to กินยาลดกรดยังไง ให้ได้ผลมากที่สุด!

ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว’ ได้ยินคำนี้ขึ้นมาหลายๆ คนคงต้องรีบมองหายาลดกรดมารับประทานกันแบบด่วนๆ เลยใช่ไหมล่ะ! ซึ่งยาลดกรดในความเข้าใจของผู้คนทั่วไป คือยาที่ช่วยระบายลมภายในกระเพาะให้ถูกขับออกมาโดยการเรอหรือผายลม แต่! แท้ที่จริงแล้วยาลดกรด ยังมีความสามารถมากกว่านั้นและยังมีสรรพคุณที่น่าสนใจอีกมากมาย โดยในวันนี้เราได้ ทำการรวบรวมข้อมูลของเจ้ายาลดกรดมาให้คุณได้รู้จักกับมันมากยิ่งขึ้น และยังมีเคล็ดลับในการรับประทานยาลดกรดยังไงให้ผลมากที่สุดมาฝากกันอีกด้วย ซึ่งไม่รอช้าเราไปศึกษาข้อมูลพร้อมๆ กันเล้ยย!

อาการแบบนี้ต้องใช้ยาลดกรดเข้ามาช่วย!

หากคุณมีอาการอาหารไม่ย่อย จุกแน่นลิ้นปี่ แสบร้อนกลางทรวงอกจากกรดเกินในกระเพาะอาหาร แผลในกระเพาะอาหาร และโรคกระเพาะอาหารอักเสบ คุณคงต้องมองหายาลดกรดมาไว้ใกล้ๆ ซะแล้วล่ะ เพราะยาลดกรด (Antacids) เป็นกลุ่มยาที่ช่วยปรับสภาพความเป็นกรดภายในกระเพาะอาหารให้มีความเป็นกลางมากขึ้น เนื่องจากกระเพาะอาหารหลั่งกรดมากเกินไป ซึ่งตัวยาลดกรดอาจผสมกับส่วนผสมอื่นที่มีคุณสมบัติเป็นด่าง (Alkalis) เช่น

อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide)

แมกนีเซียม คาร์บอเนต (Magnesium Carbonate)

แมกนีเซียม ไตรซิลิเกต (Magnesium Trisilicate)

แคลเซียม (Calcium)

ไซเมทิโคน (Simethicone)

แอลจิเนต (Alginates)

ซึ่งตัวยาแต่ละอย่างนั้นจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าอาการของคุณจะต้องรับประทานยาตัวไหน ถึงจะเหมาะสมที่สุด!

ปริมาณการใช้ยาลดกรดที่ถูกต้อง

1.กรดแอลจินิก ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป รับประทาน 2-4 เม็ด หรือ 10-20 มิลลิลิตร หลังมื้ออาหารและก่อนนอน

2.อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ ผู้ใหญ่รับประทาน ขนาดไม่เกิน 1 กรัม โดยทั่วไปคือ 1-2 ช้อนโต๊ะ

3.ยาแมกนิเซียม ไฮดรอกไซด์ รักษาภาวะกรดเกิน ผู้ใหญ่ รับประทาน ขนาดไม่เกิน 1 กรัม/วัน ร่วมกับยาลดกรดที่มีอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์เป็นส่วนประกอบ

โดยปริมาณของการรับประทานยาลดกรดนั้น ต้องเชื่อฟังแพทย์หรือเภสัชกรผู้จ่ายยาเป็นหลัก ห้าม! รับประทานเองโดนเด็ดขาด เพราะอาจจะส่งผลต่ออาการที่เป็นอยู่เอาได้

10 คุณสมบัติสุดพิเศษของยาลดกรด

1.ยาลดกรดออกฤทธิ์เร็ว! และระยะเวลาของการออกฤทธิ์มากกว่าครึ่งชั่วโมง

2.ไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อภาวะสมดุลความเป็นกรด – ด่างในร่างกาย

3.ทำให้แผลภายในกระเพาะอาหารของคุณนั้นหายเร็วขึ้น

4.มีอาการข้างเคียงน้อย เมื่อใช้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

5.สามารถทำให้สภาวะความเป็นด่างของกระเพาะอาหารมากขึ้น

6.ไม่ทำให้เกิดการหลั่งของกรดภายหลัง

7.ตัวยาไม่ค่อยดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เหมือนตัวยาชนิดอื่นๆ

8.มีผลกระทบต่อการย่อยและการดูดซึมอาหารน้อยมาก

9.สามารถบรรเทาความเจ็บปวดได้

10.ราคาถูก หาซื้อง่ายและสะดวกต่อการใช้

ข้อควรระวังในการใช้ยาลดกรด ที่คุณต้องพึ่งระลึกไว้!

1.หากใครมีปัญหาเกี่ยวกับโรคตับ โรคไต หรือมีภาวะเสี่ยงหัวใจล้มเหลว อาจจะต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกครั้งก่อนที่จะรับประทานยาลดกรด เพื่อป้องกันการสะสมของยาภายในร่างกายที่อาจจะมีผลต่อโรคที่เป็นอยู่!

2.ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอยู่ ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง! ย้ำว่าทุกครั้ง! เพราะเนื่องจากยาลดกรดบางชนิดอาจมีส่วนผสมของโซเดียมไบคาร์บอเนต ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับหญิงมีครรภ์ได้

3.ไม่ควรรับประทานยาลดกรดติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์

4.ควรแจ้งประวัติการแพ้ยาและอาการแพ้อื่น ๆ แก่แพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะส่วนผสมบางตัวในยาอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้ขั้นรุนแรงเอาได้

5.ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ตับแข็ง หรือสภาวะอื่น ๆ ที่ต้องรับประทานอาหารประเภทโซเดียมต่ำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เนื่องจากยาลดกรดบางชนิดอาจมีส่วนผสมของเกลือ (โซเดียม) อยู่ปริมาณมาก ซึ่งอาจจะส่งผลร้ายต่อร่างกายของคุณ

6.เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ควรรับประทานยาลดกรดเอง นอกเหนือจากมีคำแนะนำจากแพทย์มาแล้วว่ารับประทานได้

7.ไม่ควรรับประทานยาลดกรดพร้อมกับยาชนิดอื่นภายใน 2-4 ชั่วโมง เพราะอาจดูดซึมฤทธิ์ยาตัวอื่นจนทำให้ออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่และไม่เห็นผลนั่นเอง

ไม่ต้องตกใจ! มีผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดกรด

เอาจริงๆ แล้ว การรับประทานยาลดกรดแทบจะไม่มีผลข้างเคียงอะไรกับร่างกายของคุณเลยแม้แต่น้อย ถ้า! คุณรับประทานในปริมาณที่พอดีและเหมาะสมกับอาการที่เป็นอยู่ แต่ก็อาจจะมีผู้ป่วยบางรายที่มีอาการข้างเคียงต่างๆ เช่น

อาการท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืด เรอ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งนั้นก็อาจจะขึ้นอยู่กับประเภทของยาลดกรดว่ามีส่วนผสมหลักในการออกฤทธิ์เป็นอะไร เช่น ยาลดกรดที่มีแมกนีเซียมอาจทำให้ท้องเสีย ยาลดกรดที่มีส่วนผสมทั้งแมกนีเซียมและอะลูมิเนียมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในการขับถ่ายลดลง  ยาลดกรดที่มีอะลูมิเนียมอาจก่อให้เกิดอาการท้องผูก เป็นต้น

ยาทุกชนิดล้วนแล้วแต่มีข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเอง ซึ่งนั่นก็หมายถึงยาลดกรดด้วยเช่นกัน ถ้าคุณใช้ในปริมาณที่พอดีและเหมาะสมเจ้ายาลดกรดนี้ ก็จะช่วยให้คุณนั้นรอดพ้นจากภาวะความทรมานที่เกิดจากกรดภายในร่างกายได้ ดังนั้นก่อนที่จะรับประทานยา คุณอาจจะต้องปรึกษากับเภสัชกรหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญซะก่อน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีปัญหาซับซ้อนในตอนหลัง!